ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย

ขั้นตอนการวิจัยเริ่มตั้งแต่ การวางแผนงานวิจัย การออกแบบงานวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูล โดยเขียนเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
ขั้นที่ 1 การออกแบบงานวิจัยสถิติเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยตั้งแต่ออกแบบงานวิจัย โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดประชากรเป้าหมาย การเลือกตัวอย่าง ขนาดตัวอย่าง กรณีที่ทำการวิจัยโดยการใช้ตัวอย่างแทนกลุ่มประชากร มีรายละเอียดดังนี้
          การกำหนดประชากรเป้าหมายผู้วิจัยจะต้องกำหนดว่าคนใดบ้าง หรือหน่วยงานใดบ้างที่เป็นประชากรเป้าหมายที่จะตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัยหรือเกี่ยวข้องกับงานวิจัย  ตัวอย่าง การทำวิจัยเรื่อง "การศึกษาความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อการให้บริการของธนาคาร A"  ประชากรเป้าหมาย : ลูกค้าทุกคนที่เคยใช้บริการธนาคาร A มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ในรอบปีที่ผ่านมา
          กำหนดเทคนิคการเลือกตัวอย่างหลังจากที่ผู้วิจัยกำหนดประชากรเป้าหมายแล้ว จะต้องกำหนดวิธีการเลือกตัวอย่างจากประชากรเป้าหมายซึ่งมีเทคนิคหลายวิธี จะได้กล่าวในรายละเอียดให้บล็อกต่อไป
ขั้นที่ 2 การสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
          เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล อาจจะเป็นแบบสอบถาม เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดัน ฯลฯ ในที่นี้จะเน้นถึงการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ซึ่งแบบสอบถามควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของงานวิจัย และเทคนิคทางสถิติเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะของข้อมูลและจะเน้นการกำหนดลักษณะคำถาม
ขั้นที่ 3 การตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่เก็บรวบรวม
          การตรวจสอบเครื่องมือที่กล่าวในขั้นตอนที่ 2 นั้น จะทำได้ 2 แบบ คือการวัดความตรง และการวัดความเชื่อถือได้ ไม่ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นจะเป็นเครื่องมือแบบใดก็ตาม เช่น เครื่องวัดความสูง เครื่องชั่งน้ำหนัก คำถามต่างๆ ในแบบสอบถามหรือข้อสอบ
ขั้นที่ 4 การสรุปลักษณะที่สำคัญของงานวิจัย
          กรณีที่ข้อมูลที่เก็บรวบรวมเป็นข้อมูลของทั้งประชากร กรณีนี้ผู้วิจัยสามารถสรุปว่า กลุ่มประชากรประกอบด้วยใครบ้าง มีทัศนคติอย่างไรถ้าเป็นการศึกษาวิจัยทัศนคติ เป็นต้น
          กรณีที่ข้อมูลที่เก็บรวบรวมเป็นของกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยสามารถสรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างนั่นมีลักษณะอย่างไร และสรุปในเนื้อหางานวิจัย เช่น ศึกษาพฤติกรรมก็จะต้องอธิบายพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่าง
ขั้นที่ 5 การสรุปลักษณะประชากร
          กรณีที่ผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง เมื่อต้องการสรุปลักษณะที่สำคัญของประชากร จะใช้การทดสอบสมมติฐานทางสถิติ
ขั้นที่ 6 การหาสาเหตุหรือปัจจัย
          ในการทำวิจัย กรณีที่วัตถุประสงค์ของงานวิจัย คือ การหาสาเหตุหรือศึกษาหาปัจจัยที่ส่งผลต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือพฤติกรรม หรือความคิดเห็น จะใช้เทคนิคการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความสัมพันธ์ เทคนิคการหาความสัมพันธ์มีหลายเทคนิค ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ขั้นที่ 7 สรุปผลงานวิจัย
          ค่าสถิติที่ได้จากขั้นที่ 4-6 มาสรุปผล เพื่อตอบวัตถุประสงค์ หรือคำถามของงานวิจัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น